แต่การสั่งซื้อสินค้าจากทางออนไลน์มีสินค้าหลากหลาย สะดวกในการเลือกซื้อและสั่งซื้อ ผู้บริโภคจึงนิยมช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง พบว่า ธุรกิจ e-Commerce ระหว่างประเทศของจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดและรวดเร็ว สินค้าที่ขายดีที่สุดคือ สินค้าอาหาร โดยในปี 2560 จีนได้นำเข้าสินค้าอาหารจาก 187 ประเทศ มีมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 58,280 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 25 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอาหารเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนมากที่สุด นอกจากเรื่องของราคาแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า ส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นแบรนด์ที่มีขื่อเสียง อีกทั้งทางการจีนได้เข้มงวดกับสินค้าอาหารนำเข้า ก่อนเข้าสู่ตลาดจีนต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด จึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคชาวจีน ทำให้ชาวจีนนิยมสินค้าอาหารนำเข้ามากขึ้น และมีการตรวจสอบแหล่งที่ผลิตสินค้าก่อนทำการสั่งซื้ออีกด้วย
“ในยุคที่มีการใช้เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันไปจนถึงการแข่งขันทางการค้า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ปรับตัวเข้าสู่ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าในรูปแบบใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) มีนโยบายพัฒนาผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออก และผลักดันสินค้าไทยให้ไปอยู่บน e-Marketplace ชั้นนำระดับโลก และยกระดับแพลตฟอร์ม “Thaitrade.com” เชื่อมโยงกับผู้ให้บริการระดับโลก เช่น Amazon, Alibaba,e-Bay, JD.com และผู้ค้าตลาดใหม่ๆ จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยในปี 2560 มีมูลค่า 2,812,592 ล้านบาท ขยายตัว 9.86%” นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าว
นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวเสริมว่า ในปี 2560 บริษัทอีคอมเมิร์ซ JD.com ของจีนมียอดจำหน่ายสินค้าอาหารนำเข้าเติบโตกว่าร้อยละ 50 และบริษัทได้วางแผนเปิดเว็บเพจจำหน่ายสินค้านำเข้า 50 เพจในปี 2562 โดยทำการเปิดเพจของประเทศไอร์แลนด์ ไทย ฮอลแลนด์ มาเลเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย ฯลฯ ไปแล้ว โดยเว็บเพจสินค้าจากประเทศต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตจีนที่อยู่ในประเทศนั้นๆ หรือรัฐบาลของประเทศนั้นๆอีกด้วย
นางสาวบรรจงจิตต์ ทิ้งท้ายว่า สินค้าอาหารของไทยได้รับความนิยมจากชาวจีน โดยช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์จะสร้างโอกาสให้ผู้บริโภคจีนได้เลือกซื้อสินค้าอาหารของไทยมากขึ้น สินค้าอาหารไทยที่ได้รับความนิยม เช่น ข้าวหอมมะลิ เครื่องปรุงรส เครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมจากแอลกอฮอล์ ผลไม้อบแห้ง ขนมทานเล่น เป็นต้น จึงถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย SME และ Startup กลุ่มธุรกิจอาหารที่ต้องการส่งออกหรือมองหาช่องทางการส่งออกสินค้าไปยังจีนที่จะพัฒนาสินค้าให้สามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างทันท่วงที
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือโทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น